loading

สถานการณ์โรคฝีดาษลิงในไทย โรคฝีดาษลิงในไทยสถานการณ์ตอนนี้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุขชี้แจงว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วงเนื่องจากพบยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงไม่หยุด ทะลุเกินร้อยรายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

และได้ออกมาเตือนกลุ่มเยาวชนและกลุ่มเสี่ยง ให้ระมัดระวังตัว ทำความเข้าใจข้อมูลของโรคและแนวทางการป้องกันลดความเสี่ยงการเกิดโรคฝีดาษลิงไม่ให้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นไปกว่านี้

โรคฝีดาษลิงในไทยเริ่มต้นจาก?

             เริ่มต้นมีการพบผู้ป่วยรายแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 โดยพบในกลุ่มชายวัยทำงาน จุดเริ่มต้นของการระบาดมาจากชาวต่างชาติ มีการแพร่เชื้อตามแหล่งสถานบันเทิงต่าง ๆเพราะเป็นสถานที่ ที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกันระหว่างบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มคนแปลกหน้าทำให้เกิดการระบาดของเชื้อฝีดาษลิงขึ้น ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 สถานการณ์ผู้ป่วยเริ่มลดลง องค์การอนามัยประกาศให้โรคฝีดาษลิงพ้นจากสถานะภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่ล่าสุดไม่นานก็พบว่ามีการกลับมาระบาดอีกครั้งโดยมีการระบาดในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้น และยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

            ยอดผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงล่าสุด นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคได้กล่าวว่า “ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 316 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 198 คน จังหวัดชลบุรี 22 คน นนทบุรี 17 คน และสมุทรปราการ 12 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบว่ามี อายุ 30-39 ปี จำนวน 152 คน รองลงมาอายุ 20-29 ปี จำนวน 85 คน กลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี จำนวน 28 คน “ 

           กลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อฝีดาษลิงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงสูง โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจะมีดังนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด ผู้ป่วยมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอื่น ๆ โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้ออาการรุนแรงสูงที่เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง 

ฝ๊ดาษลิง คืออะไร? 

            โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) หรือไข้ทรพิษลิง เป็นโรคที่มีลักษณะและอาการใกล้เคียงกับโรคอีสุกอีใส โดยจะมีไข้ร่วมกับการมีตุ่ม ผื่น หนองเกิดขึ้นทั่วร่างกาย มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต แต่โรคฝีดาษลิงจะมีความรุนแรงที่น้อยกว่าโรคอีสุกอีใส 

ฝีดาษลิงเกิดจากอะไร ? ต้นกำเนิดมาจากไหน ? 

             ฝีดาษลิงเกิดจาก ไวรัส “Othopoxvirus” ซึ่งเป็นไวรัสที่เกิดโดยธรรมชาติ พบในตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ อย่างเช่น หนู กระรอก กระต่าย โดยฝีดาษลิงนั้นมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศคองโก พบการระบาดครั้งแรกเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน เป็นการติดเชื้อของสัตว์ตระกูลลิงในห้องแล็ป ที่ใช้ลิงในการทดลอง แบ่งลิงออกเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่

  • ลิงสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่เชื้อมีความรุนแรงมาก อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ลิงสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่เชื้อมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกากลางมาก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กำลัง “ระบาด” อยู่ ณ ขณะนี้

เจาะลึก ฝีดาษลิงอาการ เป็นอย่างไร?

          ระยะเวลาช่วงตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงเริ่มแสดงอาการ ระยะของโรคฝีดาษลิงนั้นมีตั้งแต่ 7-21 วัน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

  • ระยะก่อนออกผื่น ประมาณ 0-5 วัน มีไข้, ปวดศีรษะมาก, ต่อมน้ำเหลืองโต, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก  ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานร เปรียบเทียบกับโรคอื่นที่อาจแสดงอาการแรกเริ่มคล้ายกัน (อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ)
  • ระยะออกผื่น  ปกติเริ่มภายใน 1-3 วันหลังจากเริ่มมีไข้  ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยผื่นจะมีขนาด 2-10 มิลลิเมตร ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมา สามารถเกิดตุ่มผื่นได้ทั้ง ใบหน้า ,ฝ่ามือฝ่าเท้า,เยื่อบุช่องปาก ,อวัยวะเพศ,เยื่อบุตา และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วย

โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากผื่นแดง จากนั้นค่อย ๆ เป็นเป็น ผื่นนูน กลายเป็นถุงน้ำและเกิดตุ่มหนองเป็นฝี จนตุ่มหนองแตกและแห้งเป็นสะเก็ด ผู้ป่วยจะ

เริ่มมีอาการดีขึ้น และหมดระยะในการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น

             อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการ หากมีประวัติการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคฝีดาษลิง ให้เริ่มสังเกตอาการหลังจากการสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงภายใน 21 วัน หากมีอาการดังข้างต้น ให้รีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลทันที

แนวทางการเข้ารับการรักษาโรคฝีดาษลิง

              หลังจากได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าพบการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง จะมีแนวทางในการรักษาโดย ให้ผู้ป่วยเข้าแอทมิททุกรายและแยกรับษาตัวในห้องผู้ป่วยติดเชื้อโดยเฉพาะ ระยะอาการของโรคโดยปกติจะอยู่ที่ 2-4 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงมีอาการรุนแรงจะต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ป้องกันตัวเอง ลดความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง

            ฝีดาษลิงติดเชื้อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่ง การป้องกันลดความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการงดหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสสารคัดหลั่งตุ่มหนองของผู้อื่น คนแปลกหน้า งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคฝีดาษลิงทั้งทางตรงและทางอ้อมได้แล้ว